ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ดังนี้

อำนาจหน้าที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มาตรา ๗)
           ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา ที่ผู้ศึกษาสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมาเข้าชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

อำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย (มาตรา ๑๘) ดังนี้
          (๑)   วางนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
          (๒)   วางระเบียบและออกข้อบังคับของมหาวิทยาลัยและอาจมอบให้ส่วนราชการใดในมหาวิทยาลัยวางระเบียบและออกข้อบังคับสำหรับส่วนราชการนั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปก็ได้
          (๓)   อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
          (๔)   พิจารณาการจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย และศูนย์ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ รวมทั้งการแบ่งส่วนราชการของส่วนราชการดังกล่าว
          (๕)   อนุมัติการรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยหรือการยกเลิกการสมทบ
          (๖)   พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด
          (๗)   พิจารณาเสนอเพื่อทรงพระโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี ศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ
          (๘)   แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ให้รักษาราชการแทนอธิการบดีในกรณีที่อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามมาตรา 23 วรรคสาม จนกว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่
          (๙)   แต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวจการสถาบัน รองผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการวิทยาลัย รองผู้อำนวยการวิทยาลัย ผู้อำนวยการศุนย์ รองผุ้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ รองหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หัวหน้าภาควิชา หัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเที่ยบเท่าภาควิชา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์พิเศษ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ
          (๑๐)  แต่งตั้งและถอดถอนประธานกรรมการและกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย
          (๑๑)  อนุมัติงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
          (๑๒)  วางระเบียบและออกข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงาน การเงิน และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
          (๑๓)  แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย
          (๑๔)  พิจารณาและให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยตามที่อธิการบดีเสนอและอาจมอบหมายให้อธิการบดีปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยก็ได้
          (๑๕)  พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ

อำนาจหน้าที่ของอธิการบดี  (มาตรา ๒๔) ดังนี้
          (๑)   บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัขย รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
          (๒)   ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัย
          (๓)   การจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย และแผนปฏิบัติตามนโยบายและแผนงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
          (๔)   รักษาระเบียบวินัย จรรยาบรรณ และมารยาทแห่งวิชาชีพของข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และส่งเสริมกิจการนักศึกษา
          (๕)   เสนอแผนดำเนินงานและงบประมาณประจำปี ตลอดจนรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย
          (๖)   เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั่วไป
          (๗)   ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำวิทยาเขต  (มาตรา ๒๘) ดังนี้
          (๑)   ให้คำปรึกษา และข้อแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของวิทยาเขตแก่อธิการบดี
          (๒)   ประสานงานระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย ศูนย์ และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเที่ยบเท่าคณะภายในวิทยาเขต
          (๓)   พิจารณาเสนอการออกระเบียบปฏิบัติของวิทยาเขตต่ออธิการบดี และวางระเบียบหรือออกข้อบังคับอื่นตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
          (๔)   พิจารณาเสนอแผนพัฒนา แผนงาน และงบประมาณประจำปีของส่วนราชการต่าง ๆ ของวิทยาเขตต่ออธิการบดี
          (๕)   ปฏิบัติงานอื่นตามที่อธิการบดีมอบหมาย

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัย (มาตรา ๓๑) ดังนี้
          (๑)   วางนโยบายและแผนงานของบัณฑิตวิทยาลัยให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย
          (๒)   วางระเบียบปฏิบัติและออกข้อบังคับของบัณฑิตวิทยาลัยเกี่ยวกับงานบัณฑิตวิทยาลัย โดยไม่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับและนโยบายของมหาวิทยาลัย
          (๓)   พิจารณาเสนอเปิดหรือยุบโครงการบัณฑิตศึกษา รวมทั้งพิจารณาหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสำหรับบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
          (๔)   พิจารณาดำเนินการวัดผลและประเมินผลบัณฑิตศึกษา
          (๕)   ให้คำปรึกษาและเสนอความคิดเห็นแก่คณบดี
          (๖)   ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ เกี่ยวกับกิจการบัณฑิตวิทยาลัยตามที่อธิการบดีมอบหมาย

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคณะ (มาตรา ๓๔) ดังนี้
          (๑)   วางนโยบายและแผนงานของคณะให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย
          (๒)   พิจารณาหลักสูตรและรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรสำหรับคณะเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
          (๓)   พิจารณาวางระเบียบและออกข้อบังคับภายในคณะที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมายหรือเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย
          (๔)   พิจารณาเสนอเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ประจำต่อในคณะต่อมหาวิทยาลัย
          (๕)   จัดการวัดผล ประเมินผล และควบคุมมาตรฐานการศึกษาของคณะ
          (๖)   ส่งเสริมงานวิจัย งานบริการวิชากรแก่สังคม และงานทะนุบำรุงศิลวัฒนธรรม
          (๗)   พิจารณางบประมาณของคณะ
          (๘)   ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นแก่คณบดี
          (๙)   ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ เกี่ยวกับกิจการของคณะตามที่อธิการบดีมอบหมาย

คณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีอำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการบริหารงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๕  ดังนี้
          (๑)   เป็นคณะทำงานของสภามหาวิทยาลัย
          (๒)   เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่สภามหาวิทยาลัย เกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัย ระบบบริหารงาน (ยกเว้นระบบบริหารงานบุคคล) วิธีปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานราชการมหาวิทยาลัย งบประมาณและค่าตอบแทน
          (๓)   อนุมัติ เห็นชอบ หรือไม่อนุมัติให้มหาวิทยาลัยดำเนินการในกิจการต่าง ๆ ตามที่คณะ สถาบัน สำนัก หรือศูนย์เสนอพิจารณา
          (๔)   ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการอนุมัติจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ได้แก่
                    ๔.๑   ค่าตอบแทน ค่าวัสดุและค่าใช้สอย ที่ไม่มีระเบียบ หรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ หรือนอกเหนือจากที่ระเบียบ หรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนด
                    ๔.๒   เกี่ยวกับพัสดุที่มีปัญหาเบิกจ่ายเงินและวงเงินไม่เกิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐.- บาท (สิบล้านบาทถ้วน)
                    ๔.๓   ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เห็นสมควรซึ่งไม่ได้จำแนกประเภทรายจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย
                    ๔.๔   อนุมัติจ่ายค่าตอบแทนต่าง ๆ หรือปรับหรือเพิ่มอัตราค่าตอบแทนต่าง ๆ ซึ่งระเบียบหรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยให้อำนาจไว้หรือไม่ได้กำหนดไว้
          (๕)   พิจารณาและให้ความเห็นตามที่อธิการบดีปรึกษา
          (๖)   แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อนำนโยบายไปพิจารณา หรือดำเนินการตามความเหมาะสม
          (๗)   วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น จากการใช้ระเบียบหรือขัอบังคับมหาวิทยาลัย ในกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่สภามหาวิทยาลัยควรทราบ ให้เสนอสภามหาวิทยาลัยทราบ
          (๘)   พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามที่มหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยอนุมัติไว้และเรื่องอื่นที่เป็นราชการประจำของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับมหาวิทยาลัยกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

คณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหง  มีอำนาจหน้าที่ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๕๖ ดังนี้
          (๑)   การบริหารงานบุคคล พิจารณาวินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัยการออกจากราชการของข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างรยได้ และลูกจ้างปฏิบัติงานชั่วคราว
                 การใดที่ ก.พ.อ. ให้สภามหาวิทยาลัยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล  ให้ ก.บ.ม. ดำเนินการแทนสภามหาวิทยาลัย เว้นแต่ตำแหน่งวิชาการแล้วรายงานต่อสภามหาวิทยาลัย
          (๒)   กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างงบรายได้และลูกจ้างปฏิบัติงานชั่วครว เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. หรือ ก.พ. หรือกระทรวงการคลังกำหนด
          (๓)   พิจารณากลั่นกรองข้อบังคับหรือระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
          (๔)   ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่สภามหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างงบรายได้และลูกจ้างปฏิบัติงานชั่วคราว
          (๕)   ให้ความเห็นแก่อธิการบดีหรือตามที่อธิการบดีปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการน พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างงบรายได้และลูกจ้างปฏิบัติงานชั่วคราว
          (๖)   เสนอให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานของ ก.บ.ม.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
          (๗)   แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานเพื่อทำการใด ๆ หรือออกประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.บ.ม.
          (๘)   ดำเนินการอื่นใดตามที่ ก.พ.อ.กำหนดแล้วรายงานต่อสภามหาวิทยาลัย
          (๙)   ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย